จิงโจ้ สัตว์ป่าขนาดใหญ่ ที่อาจไม่ได้น่ารัก แบบที่หลายคนคิด จิงโจ้ถือว่าเป็นสัตว์ประจำชาติ ของประเทศออสเตรเลีย สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในป่า หรือแม้กระทั่งสนามหน้าบ้าน โดยเป็นสัตว์ร่างกายแข็งแรง ยืนสองขาพร้อมต่อสู้ เหมือนกับนักมวย ใครจะรู้ว่าพวกมัน มีเรื่องน่าทึ่งกว่านั้นอีกเพียบ
จิงโจ้ (Kangaroo) สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องขนาดใหญ่ ในวงศ์ของ Macropodidae สัตว์พื้นเมือง ประจำทวีปออสเตรเลีย และนิวกินี โดยมีประชากรอาศัยกว่า 42.8 ล้านตัว ประกอบด้วย 4 สายพันธุ์ คือ จิงโจ้แดง (มีขนาดใหญ่มากที่สุด) จิงโจ้แอนติโลพินวอลลาบี จิงโจ้เทาตะวันออก และ จิงโจ้เทาตะวันตก [1]
จิงโจ้เป็นสัตว์ที่มีขนาดหลากหลาย แต่โดยรวมแล้ว มีความยาวลำตัว ประมาณ 45 – 105 เซนติเมตร ขนาดความสูง 30 – 45 เซนติเมตร หรืออาจมากถึง 2 เมตร ความยาวของหาง 33 – 90 เซนติเมตร และมีน้ำหนักตั้งแต่ 8 – 90 กิโลกรัม โดยมีขาหลังและเท้าใหญ่ และทรงพลัง สำหรับการกระโดด
หางของจิงโจ้ เป็นหางที่ค่อนข้างใหญ่และยาว (เทียบเท่ากับขนาดขาหลัง) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อแข็งแรง สำหรับการทรงตัว (เหมือนมีขาที่สาม) ทั้งยังมีกระเป๋าหน้าท้อง สำหรับการเจริญเติบโตของลูกจิงโจ้ ส่วนสีขนของจิงโจ้ ก็แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ มีทั้งสีน้ำตาลแดง สีน้ำตาลเข้ม และสีเทา
พฤติกรรมทั่วไป เป็นสัตว์สังคมอยู่ด้วยกันเป็นฝูง ประมาณ 10 ตัวขึ้นไป โดยการอยู่รวมกัน จะสามารถปกป้องสมาชิกในกลุ่มที่อ่อนแอได้ดี และอาจมีการต่อสู้กันเอง ในสถานการณ์ที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรือเป็นเวลายาวนาน จะเรียกว่าการชกมวย ช่วยในการสร้างลำดับชั้น ที่เหนือกว่าในกลุ่ม
การเคลื่อนที่ของจิงโจ้ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพียงชนิดเดียวเท่านั้น ที่ใช้วิธีการกระโดด 2 ขา เป็นหลัก โดยใช้ความเร็ว ประมาณ 20 – 25 กิโลเมตร / ชั่วโมง และใช้ความเร็วได้มากถึง 40 – 70 กิโลเมตร / ชั่วโมง ซึ่งจะใช้งานของกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อฝ่าเท้า และหางตั้งบนพื้น ทั้งยังสามารถวิ่งได้อีกด้วย
อาหารหลัก เป็นสัตว์กินพืช ในกลุ่มของ สัตว์เขตร้อน เน้นกินหญ้าเป็นหลัก และในบางครั้ง จะมีการสำรอกพืชออกมา เพื่อเคี้ยวให้อาหารอ่อน แล้วกลืนกลับเข้าไปย่อยอีกครั้ง ส่วนมากจะออกหาอาหาร ในช่วงเวลาพลบค่ำ หรือช่วงกลางคืน และนอนพักผ่อนใต้ร่มไม้ ในช่วงเวลากลางวัน ที่มีอากาศค่อนข้างร้อน
จิงโจ้เป็นสัตว์สัญลักษณ์ ของประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครอง และได้กำหนดให้ทุกวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปี คือ “วันจิงโจ้โลก (World Kangaroo Day)” สำหรับการรำลึกและการอนุรักษ์ ภายใต้ระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม และเกิดการเปลี่ยนแปลง ของสภาพอากาศอย่างรุนแรง
น้อยคนนักที่จะรู้ความลับของเจ้าจิงโจ้ ว่าพวกมันมีอวัยวะเพศผู้แยกเป็น 2 หัว และมีช่องคลอด 3 ช่อง จริงหรือ? เรียกได้ว่าออสเตรเลีย เป็นแหล่งอาศัยรวมของสัตว์ ที่มีความแปลกประหลาดมากมาย จิงโจ้ก็เป็นหนึ่งในนั้น และรวมไปถึงสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องทุกตัว ทั้งวอมแบต โคอาลา ก็ด้วยเช่นกัน
สำหรับข้อสงสัย เพศเมียมีช่องคลอด 3 ช่อง คือ ช่องคลอดของจิงโจ้นั้น มีเพียงรูเดียวเป็นปกติ แต่ภายในรูจะแยกออกเป็น 2 ทาง (ซ้ายและขวา) โดยตรงกลางของอีกอันจะเป็นทางปิด ซึ่งจะมีความสอดคล้องกับอวัยวะเพศของตัวผู้ ที่มีปลายแยกออกเป็น 2 หัว แต่มีโคนเพียงอันเดียว
การแยกของช่องคลอด ถ้าลึกลงเข้าไปอีก ภายในช่องจะมีมดลูกอยู่ด้านในสุด ที่มีทางซ้ายและทางขวาเหมือนกัน โดยปกติแล้วจิงโจ้จะมีลูกเพียง 1 ตัว / ครั้ง เมื่อเวลาคลอดออกมา ลูกจะมีขนาดเท่าเมล็ดถั่ว คลานมาอยู่ในกระเป๋าหน้าท้อง ซึ่งเป็นพัฒนาการ เพื่อความคล่องแคล่ว แม้ในตอนที่ต้องดูแลลูกนั่นเอง [2]
จิงโจ้แน่นอนว่าเป็นสัตว์ป่า ที่ไม่นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง แต่สามารถเป็นสัตว์ เพื่อการบริโภคเนื้อได้ สำหรับคนออสเตรเลียแล้ว ถือว่าเนื้อจิงโจ้เป็นเนื้อธรรมดา หารับประทานได้ทั่วประเทศ ทั้งยังผลักดันให้มีการทานเนื้อจิงโจ้มากขึ้นด้วย เนื่องจากว่าประชากรของจิงโจ้ มีจำนวนมากเกินไป
ปัจจุบันสามารถทานเนื้อจิงโจ้ แบบถูกกฎหมาย ภายในทั้ง 4 รัฐ คือ รัฐนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales), รัฐควีนส์แลนด์ (Queensland), รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย (Western Australia) และ รัฐเซาท์ออสเตรเลีย (South Australia) สามารถลองชิมเนื้อจิงโจ้ ตามร้านแนะนำ ดังต่อไปนี้
ที่มา: ใครไม่กินออสซี่กิน เนื้อจิงโจ้ผลิตภัณฑ์จากออสเตรเลีย [3]
จิงโจ้ สัตว์พื้นเมืองมีกระเป๋าหน้าท้องขนาดใหญ่ ถิ่นกำเนิดในออสเตรเลียและนิวกินี สัตว์ที่มีกล้ามเนื้อขาแข็งแรงทรงพลัง และทักษะการกระโดดคล่องแคล่ว มีประชากรมากกว่า 40 – 50 ล้านตัว ไม่นิยมเป็นสัตว์เลี้ยง แต่สามารถบริโภคเนื้อจิงโจ้เป็นอาหารได้