เกร็ดความรู้ บีเวอร์ วิศวกรสร้างเขื่อนแห่งหนองน้ำ

บีเวอร์

บีเวอร์ นักสร้างเขื่อนผู้ชำนาญ แห่งผืนป่าและแหล่งน้ำจืด หลายคนอาจยังไม่เคยรู้มาก่อนว่า พวกมันมีพฤติกรรมอย่างไร กินอะไรเป็นอาหาร และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ทางธรรมชาติมากแค่ไหน รวมเรื่องน่าสนใจ พร้อมเปิดเผยลายแทง เขื่อนธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด

ชวนรู้จักกับ บีเวอร์ ประจำผืนป่าซีกโลกเหนือ

บีเวอร์ (Beaver) สัตว์ฟันแทะขนาดใหญ่ จัดอยู่ในวงศ์ Castoridae ชนิดเดียวเท่านั้น มีถิ่นอาศัยตามแหล่งน้ำจืด ทางซีกโลกเหนือ ประกอบด้วย 2 สายพันธุ์ คือ บีเวอร์อเมริกาเหนือ (North American Beaver) และ บีเวอร์ยูเรเซีย (Eurasian Beaver) สามารถพบเห็นได้ตามแม่น้ำ ทะเลสาบ ลำธาร และบ่อน้ำ โดยมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ ยุคอีโอซีน ประมาณ 56 – 33.9 ล้านปีก่อน [1]

ลักษณะจำเพาะ บีเวอร์

บีเวอร์เป็นสัตว์ฟันแทะ ที่มีขนาดใหญ่ อันดับ 2 รองจาก คาปิบารา โดยมีความยาวของลำตัว 80 – 120 เซนติเมตร หางยาว 25 – 50 เซนติเมตร ความสูง 30 – 60 เซนติเมตร และน้ำหนักทั่วไป 11 – 30 กิโลกรัม แต่บางครั้งอาจหนักได้มากถึง 50 กิโลกรัม ทั้งยังมีร่างกายที่แข็งแรง หางเป็นเกล็ด และเท้าเป็นพังผืด

สีขนบีเวอร์ ส่วนมากเป็นสีน้ำตาลแดง สีน้ำตาลอมเหลือง หรือสีน้ำตาลแกมดำ มีโครงสร้างขนหนาแน่น จำนวน 12,000–23,000 เส้น / ตารางเซนติเมตร ทำหน้าที่ให้ความอบอุ่น ลอยตัวในน้ำ และปกป้องจากสัตว์นักล่า และยังมีกะโหลกใหญ่ กล้ามเนื้อเคี้ยว และฟันทรงพลังมากที่สุด อยู่ในประเภทของ สัตว์ฟันแข็งแรง

โดยฟันของบีเวอร์ เป็นสีเหลืองหรือส้ม แบบสัตว์ตระกูลหนู ซึ่งมีวัสดุเคลือบฟันชั้นนอกเป็น “เหล็ก” จากแร่เหล็กตามธรรมชาติ ส่งผลต่อการกัดท่อนไม้ กิ่งไม้ต่าง ๆ และพวกมันไม่ได้มีฟันแข็งแรง เพื่อทำร้ายคน นอกจากการถูกคุกคาม ซึ่งสามารถกัดจนเส้นเลือดแดง ขาดได้ในครั้งเดียว แรงกัดมากกว่าสุนัขเสียอีก

นิเวศวิทยาและความสามารถ

แหล่งอาศัยของบีเวอร์ พบมากในระบบนิเวศน้ำจืด มักอยู่ด้วยกันเป็นคู่ หรือครอบครัว พวกมันชอบว่ายน้ำและดำน้ำเป็นประจำ ตามลำธารที่มีความลาดชัน หรือพื้นที่เรียบ ที่มีพืชพันธุ์หลากหลาย อาจห่างจากต้นไม้ไม่เกิน 60 เมตร นอกจากนี้ยังพบตามภูเขา และสภาพแวดล้อม ที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ด้วย

อาหารหลัก เป็นสัตว์กินพืช โดยเฉพาะพืชล้มลุก ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และช่วงฤดูร้อน อย่างเช่น ใบ ราก หญ้า สมุนไพร ดอกบัว ต้นกก ซึ่งจะเลือกกินชนิดที่ย่อยง่ายกว่า และอาจเก็บอาหารไว้ สำหรับช่วงฤดูหนาว โดยการเก็บในกองไม้ ลึกสุดของบ่อน้ำ เพื่อไม่ให้สัตว์กินไม้ชนิดอื่นเข้าถึงได้

ความสามารถบีเวอร์ ทำหน้าที่เป็น “วิศวกรของระบบนิเวศ” เนื่องจากกิจกรรมหลัก มักสร้างเขื่อน เปลี่ยนเส้นทางลำธาร เพื่อให้ที่พักอาศัยชุ่มน้ำ และกว้างมากขึ้น โดยการเปิดพื้นที่น้ำ มากกว่า 160% ในช่วงฤดูแล้ง ทั้งยังทำให้ระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้น ส่งผลต่อระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ

บีเวอร์ สัตว์ป่ามหัศจรรย์ในธรรมชาติ

บีเวอร์

ฉายาวิศวกรแห่งธรรมชาติ นั้นไม่ได้มาง่าย ๆ เรียกว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่มีพฤติกรรมชอบแทะไม้ เพื่อนำไปสร้างเขื่อน และที่อยู่อาศัย จนเกิดการฟื้นฟูในธรรมชาติ และเพื่อสร้างความตระหนักการอนุรักษ์ จึงกำหนดให้ ทุกวันที่ 7 เมษายน คือ “วันบีเวอร์โลก” โดย Beavers Wetlands & Wildlife เริ่มตั้งแต่ปี 2009

ความสำคัญของ บีเวอร์

ครั้งสมัยอดีต บีเวอร์เคยถูกล่าเป็นจำนวนมาก เพื่อการค้าขายขนสัตว์ ทำเป็นหมวกและเสื้อกันหนาว จนเกือบสูญพันธุ์มาแล้ว ส่งผลให้หลายประเทศ ต้องมีกฎหมายคุ้มครอง จึงทำให้ประชากรบีเวอร์มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น และแน่นอนว่า ในปัจจุบันพวกมันมีความสำคัญ กับระบบนิเวศหลายประการ ดังต่อไปนี้

  • สถานที่หลบภัยจากสัตว์นักล่า : บีเวอร์จำเป็นต้องเพิ่มระดับน้ำ จากการสร้างที่พักกลางแหล่งน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่านักล่า ไม่สามารถเข้ามาในที่พักได้ง่าย ๆ เพราะการจะเข้าถึงตัวบ้าน ต้องมาจากทางใต้น้ำเท่านั้น จึงเป็นวิธีปกป้องตัวเองจากภัยคุกคาม อย่างเช่น หมาป่า และ หมี
  • สร้างทรัพยากรอาหารชั้นยอด : แหล่งน้ำเป็นทรัพยากรอาหารสำคัญ ประกอบด้วยเปลือกไม้เป็นหลัก โดยบีเวอร์จะกินส่วนของเนื้อเยื่อและพืชน้ำ สามารถเข้าถึงอาหารได้ตลอดปี และเก็บอาหารไว้ในบ่อใกล้บริเวณบ้าน ซึ่งช่วยเอื้อต่อการเติบโตของพืชหลายชนิด
  • แก้ปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้ง : การสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำหลายจุด จะช่วยรักษาสมดุลของน้ำ เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งน้ำจะไม่ท่วมขัง และพื้นที่แล้งมีน้ำเพิ่มขึ้น ทั้งยังส่งเสริมการเพาะพันธุ์ปลา แหล่งทำรังของนก ที่พักอาศัยเหมาะสม ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
  • ลดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก : จากพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งสะสมของคาร์บอน ที่ช่วยดูดซับและกักเก็บ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในชั้นบรรยากาศได้เป็นอย่างดี
  • เกื้อหนุนสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศเดียวกัน : ด้วยที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของบีเวอร์ ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ และปลอดภัยจากนักล่า จึงช่วยเกื้อหนุนให้สัตว์น้ำ มีโอกาสรอดชีวิตได้สูง ทั้งยังช่วยควบคุมอุณหภูมิน้ำ การกรองสารพิษและตะกอน ส่งผลต่อการอยู่รอดของปลามากขึ้น

ที่มา: บีเวอร์วิศวกรธรรมชาติ ผู้สร้างสมดุลให้นิเวศหนองน้ำ [2]

ลายแทงเขื่อนธรรมชาติใหญ่ที่สุด

เขื่อนอย่างที่หลายคนเข้าใจ คือสิ่งปลูกสร้างจากฝีมือมนุษย์ เพื่อการบริหารจัดการน้ำ แต่บีเวอร์คือสิ่งมีชีวิต ที่มีทักษะความสามารถนั้นเช่นกัน ทั้งยังมีขนาดใหญ่มาก จนสามารถมองเห็น จากภาพถ่ายอวกาศได้เลย โดยภายในปี 2007 ได้รับการค้นพบ “เขื่อนบีเวอร์ใหญ่ที่สุดในโลก” จากแผนที่ Google Earth

พิกัดสถานที่ ตั้งอยู่ใจกลางผืนป่า อุทยานแห่งชาติวูดบัฟฟาโล (Wood Buffalo National Park) ประเทศแคนาดา คืออุทยานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 44,800 ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำไหลและทะเลสาบหลายแห่ง เป็นที่อยู่อาศัยหลักของ นกกระเรียน ควายไบซัน หมีกริซลี และหมีดำ

บีเวอร์สร้างสันเขื่อน ที่มีความยาวถึง 850 เมตร และถูกสร้างมานานกว่า 50 ปี โดยพวกมันสร้างขึ้น จากการใช้ฟันกัดแทะต้นไม้ให้ล้ม กัดให้เป็นท่อนซุงเล็ก ๆ แล้วนำมาขวางทางน้ำ พร้อมกับกิ่งไม้ ก้อนหิน และดินโคลน ซึ่งพวกมันสร้างในทำเลที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อสัตว์ ธรรมชาติ และมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง [3]

สรุป บีเวอร์ “Beaver”

บีเวอร์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประเภทสัตว์ฟันแทะ ถิ่นอาศัยบริเวณแหล่งน้ำจืด ของแถบซีกโลกเหนือ ฉายาวิศวกรตัวน้อย หนึ่งในผู้พิทักษ์ผืนป่าอย่างแท้จริง ช่วยสร้างสมดุลให้กับป่า พบเขื่อนธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด ในอุทยานแห่งชาติวูดบัฟฟาโล เรียกว่าเป็นระบบนิเวศ กักเก็บคาร์บอนดีที่สุดของโลก

Facebook
Twitter
Telegram
LinkedIn
ข้อมูลผู้เขียน

แหล่งอ้างอิง