ข้อมูลนกป่า ไก่ฟ้าพญาลอ ตำนานแห่งภูมิภาคเอเชีย

ไก่ฟ้าพญาลอ

ไก่ฟ้าพญาลอ ตำนานไก่ฟ้าสวยงาม อาศัยอยู่ตามป่าเขา สามารถโบยบินได้เหมือนนก ที่คนส่วนมากรู้จักกันในวรรณคดีไทย ลิลิตพระลอ กล่าวขานถึงความงดงามของไก่ฟ้า หรือคนสมัยโบราณ เรียกกันว่า นกเทวดา นกป่าที่มีเอกลักษณ์สวยงาม นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงราคาสูง ในแถบทวีปเอเชีย

ประวัติ ไก่ฟ้าพญาลอ นกประจำชาติไทย

ไก่ฟ้าพญาลอ (Siamese Fireback) ไก่ขนาดกลาง จัดอยู่ในวงศ์ Phasianidae ของไก่ฟ้าและนกกระทา พบในประเทศไทย ประเทศกัมพูชา ประเทศลาว และประเทศเวียดนาม ขึ้นชื่อว่าเป็นไก่ ที่มีขนสวยงามมากที่สุดของไทย อาศัยอยู่ตามป่าทึบ ป่าดงดิบ หรือตามป่าโปร่ง ในระดับความสูง จากน้ำทะเลไม่เกิน 800 เมตร [1]

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ ครั้งสมัยอดีต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2405 ไก่ฟ้าพญาลอถูกเสนอเป็น นกประจำชาติไทย จากเหตุการณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงพระราชทานไก่ฟ้า

เป็นของขวัญให้กับ พิพิธภัณฑ์ปารีส จำนวน 1 คู่ จึงได้รับการแต่งตั้งชื่อภาษาอังกฤษ “Siamese Fireback Pheasent” เพื่อเป็นเกียรติในถิ่นกำเนิดของไทย และเป็นไก่ฟ้าชนิดเดียว ที่มีชื่อภาษาไทยคนรู้จักไปทั่วโลก

ข้อมูลทางกายภาพ ไก่ฟ้าพญาลอ

ลักษณะของไก่ฟ้าพญาลอ จัดว่าเป็นไก่ป่าสวยงาม มีความยาว ตั้งแต่หัวจรดปลายหาง ประมาณ 80 เซนติเมตร รูปร่างสั้นป้อม ขนเป็นสีเทาเหลือบน้ำเงิน หางยาว เป็นสีดำเหลือบน้ำเงิน หรือเหลือบเขียว โดยทั้งเพศผู้และเพศเมีย มีหน้ากากบริเวณดวงตาสีแดงสด

สามารถแยกเพศได้จาก ไก่ฟ้าเพศผู้ จะมีพู่หงอนยาวบนหัว สีสันสดใสกว่า มีลวดลายตรงโคนปีก และโคนหางส่วนท้าย เป็นสีเหลืองแกมทอง ในขณะที่เพศเมียนั้น ไม่มีหงอน ลำตัวออกสีน้ำตาลแดง ท้องเป็นลายเกล็ดสีขาว และส่วนปีก เป็นลวดลายขวาง สลับกับสีดำสวยงาม

ลักษณะพฤติกรรมทั่วไป

พฤติกรรมในป่าธรรมชาติ เป็นสัตว์หวงอาณาเขต นิสัยกล้าเผชิญหน้า มักชอบอยู่ลำพัง หรืออยู่ด้วยกันเป็นคู่ โดยจะออกหากิน ในช่วงเวลากลางวัน และขึ้นคอนนอนพักผ่อน ในช่วงเวลากลางคืน สามารถพบเห็นได้ง่าย ตามทางเดินผ่านป่า อย่างเช่น อุทยานแห่งชาติทับลาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยง – ภูทอง เป็นต้น

สำหรับการผสมพันธุ์ เกิดขึ้นระหว่าง เดือนกุมภาพันธ์ – เดือนกรกฎาคม ซึ่งเพศผู้จะเข้าหาเพศเมีย โดยการยืดอก และกางปีกกระพือเป็นระยะ ส่วนเพศเมีย จะหมอบตัวลงกับพื้นดิน และการวางไข่ 4 – 8 ฟอง / ครั้ง ซึ่งใช้เวลาฟักประมาณ 23 – 25 วัน สามารถแยกเพศได้ ตั้งแต่อายุ 4 – 5 สัปดาห์ และเริ่มผสมพันธุ์ พร้อมวางไข่ได้ เมื่อมีอายุครบ 2 ปี

สถานภาพและการเพาะเลี้ยง ไก่ฟ้าพญาลอ

ไก่ฟ้าพญาลอ

สภาพปัจจุบัน ค่อนข้างหายากในป่าธรรมชาติ จึงถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จำพวกนก ลำดับ 4 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเพาะพันธุ์ได้ ปี พ.ศ. 2546 ส่งผลให้กลุ่มผู้ที่สนใจ ส่งเสริมการเพาะเลี้ยง ศึกษาเพาะเลี้ยงจากพ่อแม่พันธุ์ และต้องมีใบอนุญาตครอบครอง ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

ไก่ฟ้าพญาลอ เพาะเลี้ยงอย่างไร?

กรงสำหรับเพาะเลี้ยง เหมือนกับกรงไก่ฟ้าทั่วไป แนะนำเป็นกรงขนาดใหญ่ ประมาณ 1 – 2.40 เมตร สำหรับลูกไก่ฟ้า 5 สัปดาห์ – 2 ปี ส่วนกรงขนาดใหญ่ ประมาณ 2 – 6 เมตร เหมาะกับไก่ฟ้าอายุ 2 ปีขึ้นไป พร้อมด้วยหลอดไฟ ให้ความอบอุ่น ตาข่ายป้องกันสัตว์อื่น พื้นที่กรงต้องไม่มีลมพัด แต่สามารถระบายอากาศได้ดี

อาหารไก่ฟ้า ควรให้เป็นเมล็ดหญ้า ขุยไผ่ และผลไม้สุก นอกจากนี้ยังสามารถให้กิน ตัวหนอน แมลง ไส้เดือน และสัตว์ขนาดเล็กตามพื้นดินได้ ปริมาณอาหารไก่ฟ้า (ระยะแรกเกิด – 3 เดือน) ควรให้โปรตีน 21 – 24% และปริมาณอาหาร (ระยะ 3 เดือน – 2 ปี) ควรได้รับโปรตีน 17% และเปลี่ยนน้ำสะอาดทุกเช้า

ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย โดยทั่วไปไก่ฟ้าพญาลอ จะมีความต้านทานโรคค่อนข้างสูง แต่สามารถเกิดโรคได้ หากเลี้ยงใกล้กับไก่บ้าน อย่างเช่น โรคนิวคาสเซิล โรคฝีดาษ โรคไข้หวัดนก โรคจากแบคทีเรีย โรคจากปรสิตภายใน เป็นต้น ซึ่งเจ้าของควรหมั่นตรวจสุขภาพไก่ฟ้า และมีการควบคุมโรคขั้นพื้นฐาน [2]

รวมสายพันธุ์ไก่ฟ้าในไทย

สายพันธุ์ของไก่ฟ้า ที่พบเห็นได้ในประเทศไทย เป็นสัตว์ปีกจำพวก นกป่าในไทย ค่อนข้างมีสายพันธุ์หลากหลาย โดยพบอยู่เป็นจำนวน 6 ตระกูล 14 ชนิด ดังต่อไปนี้

  • ตระกูลไก่ฟ้า (Genus Lophura Fleming) : ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหน้าเขียว ไก่ฟ้าหลังขาว และไก่ฟ้าหลังเทา
  • ตระกูลไก่ (Genus Gallus Brisson) : ไก่ป่า
  • ตระกูลไก่ฟ้าหางลายขวาง (Genus Syrmaticus Wa Gler) : ไก่ฟ้าหางลายขวาง
  • ตระกูลนกยูง (Genus Pavo Innaeus) : นกยูงไทย
  • ตระกูลนกหว้า (Genus Argusianus Rafinesque) : นกหว้า
  • ตระกูลนกแว่น (Genus Polyplectron Temminck) : นกแว่นสีเทา และนกแว่นสีน้ำตาล
  • ตระกูลไก่ฟ้าโลก : ทั้งหมด 16 ตระกูล คือ Argusianus, Rheinartia, Pavo, Afropavo, Tragopan, Gallus, Crossoptilon, Lophophoprus, Pucrasia, Syrmaticus, Ithaginis, Chrysolophus, Catreus, Phasianus, Lophura และ Polyplectron

ที่มา: เฉลยแล้ว!! ดวงตาของสัตว์ที่มีสีสันงามจับตา คือ “ไก่ฟ้า” [3]

สรุป ไก่ฟ้าพญาลอ “Siamese Fireback”

ไก่ฟ้าพญาลอ นกป่าสวยงาม ประจำชาติไทย ขนสีเทาเข้มเงางาม หน้ากากแดง พู่หงอนยาวสวย แหล่งอาศัยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครอง ชนิดสามารถเพาะเลี้ยงได้ ถูกขนานนามว่า ขนสวยงามมากที่สุด และเป็นไก่ฟ้าชื่อไทยดังไปไกลทั่วโลก

Facebook
Twitter
Telegram
LinkedIn
ข้อมูลผู้เขียน

แหล่งอ้างอิง